“เวลา..เท่ากัน”
ในผู้เจ็บป่วยทั้งหลาย จิตมักเศร้าหมองจากเหตุวิตกกังวลต่อความเจ็บป่วยนั้นๆ
ครั้นรักษานานความเจ็บป่วยนั้น ก็ยังไม่ทุเลาลง ไม่หายขาด ความเจ็บป่วยกลับเพิ่มมากขึ้นๆ
จิตย่อมวิตกกังวลเศร้าหมองเพิ่มมากยิ่งขึ้น
นึกหวาดกลัวถึงความตายที่จะมาสู่ตน
จิตสับสน กระวนกระวาย กระสับกระส่าย ไม่สงบ มีความทุกข์ทั้งกายใจ
เมื่อไม่มั่นใจ…ก็หาที่พึ่งทางใจ..
บ้างก็หาที่พึ่งไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเคารพ
บ้างก็ทำพิธีกรรมต่อชะตา แก้กรรม
ตามความเชื่อ ให้สบายใจ
บ้างก็อยากรู้อนาคตว่า จะหายป่วยหรือไม่ ?
จะมีเวลาเหลืออีกเท่าไร ?
(คิดไปว่าต้องตายแน่ๆ)
เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมเจ็บป่วย..ดังข้างต้น
หากวิตกกังวลจิตกระวนกระวาย ไม่สงบ
อยากรู้อนาคตว่า จะหายป่วยหรือไม่ ?
จะมี “เวลา..” เหลืออีกเท่าไร ?
ให้จิตพิจารณาเห็นไปตามความเป็นจริงของไตรลักษณ์..
“ทุกคน”..ล้วนได้โอกาส “เวลา..เท่ากัน” ทุกเพศวัย
เราควรใช้เวลาปัจจุบันสร้างคุณค่าต่อจิต/ต่อชีวิตตนเองอย่างไร? ให้เป็นวันสำคัญของเราทุกวัน และทำทุกๆวันให้มีความสุข
ดีกว่าไปคิดถึงเวลาอนาคตที่เหลือ ว่าจะอยู่ได้อีก กี่วัน/กี่เดือน/กี่ปี
เพราะทุกๆคนไม่มีใครเลยที่มีเวลามากกว่าใคร
พระพุทธเจ้าจึงทรงเตือนให้เรา “ไม่ประมาท” ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน
เราทุกคนต่างมีเวลาที่เหลืออยู่วันละ 24 ช.ม. เท่ากัน
จึงควรใช้เวลาปัจจุบันที่เหลืออย่างไร? ให้มีคุณค่า
สร้างมูลค่าเพิ่ม ให้แก่จิตของตนเอง
ปฏิบัติธรรมให้จิตผ่องใสงดงามไปตามธรรม
แล้ว ทุกๆวันเราจะมีความสุข ไม่มีวันอนาคตที่นำมาคิดทุกข์กับปัจจุบัน
จิตผ่องใสเป็นสุขทุกๆวันจนถึงวันสุดท้าย..และวินาทีสุดท้าย
ผู้ปฏิบัติธรรมเมื่อจิตพิจารณาได้ตามนั้นแล้ว..
จึงชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท
ย่อมมีความสุขทุกเมื่อ
ขอจิตเจริญในธรรม
อุทยานธรรมพระพุทธรูปอู่ทองอุดมทรัพย์
ต.พักทัน อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี
29 ธันวาคม 2559