จองจำ..จิต

การนั่งสมาธิ ในวันนี้ ผมขอกล่าวถึง “จองจำ” คำว่า จองจำ หมายถึง ใส่ตรวน หรือเครื่องพันธนาการขังไว้ในคุก ในตะราง,

 

จิต..ถูกจองจำ ในที่นี้ หมายถึง จิตที่ถูกจองจำด้วย ความโลภ ความโกรธ และความหลง ซึ่งมีมากบ้าง น้อยบ้างแตกต่างกันไปตามอุปนิสัยของแต่ละคน ทำให้จิตเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในวัฏสงสาร (ภพภูมิที่มนุษย์ทุกคนต้องเวียนว่ายตายเกิดขึ้นมาในตามหลักของพระพุทธศาสนา) เหมือนจิตเราทุกคนต่างถูกใส่ตรวน หรือเครื่องพันธนาการ ขังไว้ในคุกวัฏสงสาร นี้,

 

จิต..ถูกจองจำ มี ๓ ลักษณะ

 

. จิตถูกจองจำด้วยความโลภอย่างรุนแรง

ย่อมเป็นคนจิตใจตระหนี่ คับแคบ คิดแต่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น คิดคดโกง อยากได้ อยากมี อยากเป็น อย่างรุนแรง ย่อมไม่มีใครคบหา ไมมีใครผูกมิตรไมตรีด้วย ในทางกลับกัน,

จิตที่มีความโลภน้อย เอาชนะความตระหนี่ได้ รู้จักการให้ การแบ่งปัน

การเสียสละเพื่อส่วนรวม การเอื้อเฟื้อในหมู่คณะ ช่วยเหลือผู้อื่นสม่ำเสมอ

เขาย่อมมีเพื่อนมาก

 

. จิตถูกจองจำด้วยความโกรธอย่างรุนแรง

ย่อมเป็นคนจิตใจโหดเหี้ยม โมโหร้าย ผูกพยาบาท มีแต่ความเกลียดชัง จะไม่ทำเพื่อส่วนรวม อาฆาตจองเวรเรื่อยไป คิดแต่เรื่องร้ายๆ,

จิตที่มีความโกรธน้อย รู้จักการให้อภัย การแบ่งปัน การเสียสละเพื่อส่วนรวม มีจิตสาธารณะ มีการเอื้อเฟื้อในหมู่คณะ ช่วยเหลือผู้อื่นสม่ำเสมอ

เขาย่อมมีเพื่อนมาก

 

. จิตถูกจองจำด้วยความหลงอย่างรุนแรง

เช่น หลงในกามคุณ ๕ (รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสถูกต้องของร่างกาย) หลงในปัจจัย ๔ (อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค) หลงในความรัก หลงในครอบครัว หลงในญาติพี่น้อง หลงในหลาน หลงในทรัพย์สมบัติ หลงในสัตว์เลี้ยง หลง..?..ฯลฯ ย่อมแสวงหามาก สะสมมาก จิตเข้าครอบครองหวงแหน ปล่อยวางได้ยาก ครั้นสูญเสียสิ่งที่ครอบครองหวงแหน จิตเป็นทุกข์นาน มีอารมณ์แปรปรวนง่าย

จิตที่มีความหลงน้อย มีทัศนคติดี คิดในทางบวก ดำเนินชีวิตไม่เบียดเบียน

รู้จักพอเพียง   รู้การปล่อยวาง   จิตสงบเป็นสุขมากกว่าทุกข์  หากจิตเป็นทุกข์

ก็ทุกข์ไม่นาน

จิตที่ถูกจองจำด้วยความหลง เป็นสิ่งที่ยากที่สุด ที่เราจะมองเห็นสิ่งที่ตนหลงติดอยู่  เพราะเป็นสิ่งที่ผูกสัมพันธ์แนบแน่นตั้งแต่เกิด   ก็มีบิดา-มารดา ญาติพี่น้อง เพื่อน แฟน ครอบครัว เพื่อนทำงาน หลาน สัตว์เลี้ยง และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ในการดำเนินชีวิตประจำวัน จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก ในการนำจิตออกจากเครื่องจองจำนี้

ผู้สนใจปฏิบัติธรรมย่อมเป็นผู้มี ความโลภ ความโกรธ และความหลง มากบ้าง น้อยบ้าง ตามกำลังสติปัญญาของตน  เป็นผู้ได้ชื่อว่าเห็นโทษของจิตที่ถูกจองจำ แล้วหาหนทางตัดโซ่ตรวน หรือเครื่องพันธนาการ นำจิตพ้นจากคุกวัฏสงสาร

ผู้ปฏิบัติธรรม จึงควรใช้สติพิจารณาไม่ จองจำ..จิต เอาจิตตนเข้าไปผูกมัดไว้ หรือยึดไว้ (อุปาทาน) กับสิ่งทั้งหลายทั้งปวง เช่น หลงในความรัก หลงในคู่ครอง เธอดีกับฉัน ฉันดีกับเธอ ขอกล่าวคำอธิษฐานอยู่คู่กันทุกภพชาติไป เอาจิตตนผูกเข้าไว้ด้วยกัน   หรือผูกเขาไว้ฝ่ายเดียว (รัก-อธิษฐาน ข้างเดียว),

หลงในการทำบุญ   หรือทำความดี   กล่าวคำอธิษฐาน   ขอสร้างสิ่งนั้น    สิ่งนี้

ขอติดตามปรนนิบัติรับใช้ไปทุกภพชาติ, หลงในภพชาติ ให้เกิดสุขสบายในโลกมนุษย์/เทวดา/พรหม ฯ เป็นต้น

 

จึงควรกล่าวคำอธิษฐานถอนจิตออกจากเครื่องจองจำทั้งหลายนั้น

 

ดังนั้น  การปฏิบัติธรรม อริยมรรค ๘ จึงไม่ใช่ปฏิบัติไปเพื่อให้เป็นผู้วิเศษ   เหนือใคร เสกเป่า ตัดกรรม แก้กรรม ดูหมอ สะเดาะเคราะห์ ต่อชะตา รักษาโรค หรือสิ่งใดๆ

แต่เพียงเพื่อให้จิตเกิดสัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็นคนธรรมดาๆ ซึ่งมีสติรู้เท่าทันจิตพอใจ/ไม่พอใจ แล้ววางอุเบกขาได้ ย่อมนำจิตตนพ้นจากการถูกจองจำในวัฏสงสารได้นั่นเอง.

 

ขอเจริญในธรรม

อุทยานธรรมพระพุทธรูปอู่ทองอุดมทรัพย์

บันทึกธรรมบรรยาย แก่ผู้ปฏิบัติธรรม ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๕ เวลา ๐๔.๔๕ น.

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.